วิธีสร้างประโยคคำถามในภาษาอังกฤษ?

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งได้บอกไปแล้วเมื่อครั้งก่อนและต้องทำความเข้าใจให้ดี คือ กริยาช่วยบางตัวสามารถเป็นกริยาแท้ได้ด้วย กริยาช่วยที่เป็นกริยาแท้ได้ก็คือ v. to be, v. to do, v. to have และ need

ทีนี้อาจเกิดคำถามว่า แล้วเราจะใช้กริยาช่วยตัวไหนสร้างประโยคคำถาม? ก่อนอื่นถ้าเรานึกประโยคคำถามไม่ออกไม่รู้ว่าจะสร้างประโยคคำถามอย่างไร ผมขอให้เรานึกถึงประโยคบอกเล่าก่อน คือหลักการสร้างประโยคคำถามในภาษาอังกฤษมีอยู่ง่ายๆว่า ให้ย้ายกริยาช่วยไปอยู่หน้าประธานแค่นี้คุณก็จะได้ประโยคคำถามแล้ว และนี่คือเหตุผลที่ผมต้องให้คุณรู้จักบรรดากริยาช่วยที่กล่าวมาตอนต้นก่อนยังไงล่ะ การที่เราจะสร้างประโยคคำถามหากคิดไม่ออกให้นึกถึงประโยคบอกเล่าก่อนว่าประโยคที่เราจะถามนั้นถ้าเป็นประโยคบอกเล่าจะเป็นอย่างไรมีกริยาช่วยหรือไม่ ถ้ามีเป็นกริยาช่วยตัวไหน วางอยู่ตรงไหน และสิ่งที่เราจะถามนั้นเป็นเหตุการณ์เมื่อไหร่ อดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต ที่ให้เรานึกถึงประโยคบอกเล่าก่อนก็เพื่อให้เรารู้ก่อนว่าประโยคคำถามที่เราจะถามนั้นมีกริยาอะไรอยู่ในประโยคนั้นบ้าง ยกตัวอย่างเช่นประโยคคำถามแบบต้องการรู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ หรือ yes-no question? เราอาจอ่านเจอในหนังสือว่า

Phuket is the smallest province of Thailand.
ภูเก็ต อิซ เดอะ สมอลเล็สทฺ พร็อพวินสฺ อ็อฟ ไทแลนดฺ
(ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดของประเทศไทย)

จากประโยคตัวอย่างข้างบน ทีนี้ก็ให้เรานึกถึงหลักที่ว่าการสร้างประโยคคำถามในภาษาอังกฤษทำได้โดยการย้ายกริยาช่วยมาไว้หน้าประธาน ประโยคข้างบนก็จะออกมาเป็นประโยคคำถามโดยการย้าย is มาไว้หน้าคำว่า Phuket นั่นเอง ก็จะได้เป็นประโยคคำถามด้านล่าง

Is Phuket the smallest province of Thailand?
อิซ ภูเก็ต เดอะ สมอลเล็สทฺ พร็อพวินสฺ อ็อฟ ไทแลนดฺ?
(ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดของประเทศไทยใช่ไหม?)

คำตอบของประโยคคำถามแบบข้างบนมีสองกรณีครับคือ ใช่ กับ ไม่ใช่ หรือ yes กับ no นั่นเองในกรณีนี้ก็ต้องตอบว่า

Yes, it is (the smallest province of Thailand).
เย็ส อิท อิซ (เดอะ สมอลเล็สทฺ พร็อพวินสฺ อ็อฟ ไทแลนดฺ)
ใช่ครับ (เป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดของประเทศไทย)

ที่นี้ลองมาดูอีกสักตัวอย่างก็ได้ เช่นมีประโยคบอกเล่าว่า

She does homework every day.
ชี ดาซ โฮมเวิรฺค เอ็ฟวฺริ เดยฺ
(เธอทำการบ้านทุกวัน)

ก็จะได้ประโยคคำถามว่า

Does she do homework every day? 
ดาซ ชี ดู โฮมเวิรฺค เอ็ฟวฺริ เดยฺ?
(เธอทำการบ้านทุกวันหรือ/ใช่ไหม?)

คำตอบก็อาจเป็นไปได้สองกรณีคือ ใช่หรือ ไม่ใช่ หรือ yes กับ no ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

Yes, she does (homework every day).
เย็ส ชี ดาซ (โฮมเิวิรฺค เอ็ฟวฺริ เดยฺ)
ใช่ (เธอทำการบ้านทุกวัน)

No, she doesn't (homework every day).
โน ชี ดาซซึนทฺ (โฮมเวิรฺค เอ็ฟวฺริ เดยฺ)
ไม่ (เธอไม่ได้ทำการบ้านทุกวัน)

ท่านอาจจะสงสัยว่าประโยคคำถามข้างบนทำไมมี v. to do ตั้งสองตัวอยู่ในประโยค ตรงนี้แหละครับที่สำคัญในภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะในการสร้างประโยคคำถามและเราจะรู้ได้ว่าต้องใช้กริยาช่วยคำไหนสร้างประโยคคำถาม หลักก็คือ ให้ท่านสังเกตว่าถ้าในประโยคบอกเล่ามีกริยาช่วยอยู่แล้วก็ให้ย้ายกริยาช่วยที่มีอยู่แล้วนั้นมาไว้หน้าประธานก็จะได้ประโยคคำถามทันที โดยเป็นไปได้ 5 กรณี คือ

กรณีที่หนึ่ง ในประโยคบอกเล่าเดิมนั้น มีกริยาช่วยตัวเดียวที่เป็นได้ทั้งกริยาช่วยและกริยาแท้อยู่ในประโยค

กรณีที่สอง ในประโยคบอกเล่านั้นมีกริยาช่วยผสมกับกริยาแท้อยู่ในประโยค

กรณีที่สาม ในประโยคบอกเล่านั้นไม่มีกริยาช่วยอยู่เลย มีแต่กริยาแท้

กรณีที่สี่ มี v. to do เป็นกริยาแท้อยู่ในประโยคบอกเล่านั้น

กรณีที่ห้า มี v. to have เป็นกริยาแท้อยู่ในประโยคบอกเล่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น

กรณีที่หนึ่ง ประโยคบอกเล่ามีกริยาช่วยที่เป็นได้ทั้งกริยาช่วยและกริยาแท้อยู่ในประโยคตัวเดียว ตัวอย่างเช่น

He is your friend from New York.
ฮี อิซ ยัวรฺ เฟรนดฺ ฟรอม นิว ยอรฺค
(เขาเป็นเพื่อนของคุณมาจากนิวยอร์ค)

ประโยคข้างบนมีกริยาคือ v. to be (is) ซึ่งเป็นได้ทั้งกริยาช่วยและกริยาแท้ ถ้าเจอกริยาช่วยคำเดียวโดดๆอยู่ในประโยคอย่างนี้ท่านสามารถย้าย กริยาช่วยนั้นๆ มาไว้หน้าประธานก็จะได้ประโยคคำถามทันทีดังตัวอย่างข้างล่างครับ


Is he your friend from New York?
อิซ ฮีี ยัวรฺ เฟรนดฺ ฟรอม นิว ยอรฺค?
(เขาเป็นเพื่อนคุณมาจากนิวยอร์คใช่ไหม/หรือ?)

ที่เป็นอย่างนี้เพราะ v.to be ทำหน้าที่เป็นได้ทั้งกริยาแท้และกริยาช่วยนั่นเองครับ

กรณีที่สอง ในประโยคบอกเล่ามีกริยาช่วยผสมกับกริยาแท้ ตัวอย่างเช่น

You are reading a newspaper.
ยู อารฺ รีดดิง อะ นิวสเปเปอรฺ
(คุณกำลังอ่านหนังสือพิมพ์?)

ประโยคข้างบนมีกริยาช่วย v. to be (are) ผสมกับกริยาแท้ read หรือ reading ถ้าเจอประโยคลักษณะนี้ท่านก็สามารถย้ายกริยาช่วย มาไว้หน้าประธานก็จะได้ประโยคคำถามทันทีเช่นกันครับดังตัวอย่างข้างล่าง
Are you reading a newspaper?
อารฺ ยู รีดดิง อะ นิวสเปเปอรฺ?
(คุณกำลังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่หรือ/ใช่ไหม?)

ที่เป็นอย่างนี้เพราะประโยคนี้มีทั้งกริยาแท้และกริยาช่วยผสมกัน เราจึงแค่ย้ายกริยาช่วยมาไว้หน้าประธานก็จะได้ประโยคคำถามทันทีครับ

กรณีที่สาม ในประโยคบอกเล่าไม่มีกริยาช่วยอยู่เลย มีแต่กริยาแท้เท่านั้น
ในกรณีที่ประโยคบอกเล่าไม่มีกริยาช่วยใดๆอยู่เลยล่ะเราจะทำอย่างไร เช่นประโยคตัวอย่างข้างล่าง

She goes shopping at The Mall Bangkapi every week.
ชี โกสฺ ช็อปปิง แอ็ท เดอะ มอลลฺ บางกะปิ เอ็ฟวฺริ วีค
(เธอไปช็อปปิ้งที่เดอะมอลล์บางกะปิทุกสัปดาห์)

ถ้าเราจะสร้างประโยคคำถามจากประโยคลักษณะนี้คือไม่มีกริยาช่วยตัวใดๆอยู่ในประโยคเลยก็ให้เรานำ v. to do เข้ามาช่วยครับโดยนำ v. to do มาไว้หน้าประธานท่านก็จะได้ประโยคคำถามทันทีดังประโยคข้างล่าง

Does she go shopping at The Mall Bangkapi every week?
ดาซ ชี โก ช็อปปิง แอ็ท เดอะ มอลลฺ บางกะปิ เอ็ฟวฺริ วีค?
(เธอไปช็อปปิ้งที่เดอะมอลล์บางกะปิทุกสัปดาห์หรือ/ใช่ไหม?)

ที่เป็นอย่างนี้เพราะ v. to do เป็นกริยาช่วยที่พิเศษกว่าตัวอื่นและทำหน้าที่นี้มากกว่ากริยาช่วยตัวอื่นนั่นเอง ให้ท่านจำง่ายๆว่าถ้าไม่มีกริยาช่วยตัวใดอยู่ในประโยคเลยเวลาจะสร้างประโยคคำถามก็ให้นำ v. to do มาช่วยสร้างประโยคคำถาม และนี่คือความพิเศษของ v. to do ที่ v. ตัวอื่นทำแทนไม่ได้ครับ ท่านจะเห็นว่าเมื่อนำ v. to do มาช่วยสร้างประโยคคำถามแล้ว v. to do ก็ต้องผันไปตามประธานและเวลาแทนกริยาแท้ ส่วนกริยาแท้ก็จะกลับไปอยู่รูปเดิม ซึ่งให้ท่านจำไว้เลยว่าในภาษาอังกฤษจะเป็นอย่างนี้เสมอ กล่าวคือ ถ้ามีกริยาสองตัวขึ้นไปในประโยค กริยาที่ต้องผันไปตามประธานและเวลาคือกริยาช่วยตัวแรกที่อยู่ใกล้กับประธานเท่านั้น

กรณีที่สี่ มี v. to do เป็นกริยาแท้อยู่ในประโยคบอกเล่านั้น
อย่างไรก็ตามทุกกฎมีข้อยกเว้นครับ นั่นก็คือถ้าในประโยคมี v. to do เป็นกริยา และมีกริยาดังกล่าวนั้นตัวเดียว และนั่นหมายความว่า v. to do ทำหน้าที่เป็นกริยาแท้ในประโยคนั้นเมื่อจะสร้างประโยคคำถามท่านต้องนำ v. to do อีกตัวมาช่วยเสมอ ยกตัวอย่างเช่นประโยคด้านล่าง

She does her homework every Saturday morning.
ชี ดาซ เฮอรฺ โฮมเวิรฺค เอ็ฟวฺริ แซทเทอะเดยฺ มอรฺนิง
(เธอทำการบ้างทุกเช้าวันเสาร์)

ประโยคข้างบนนี้เมื่อจะสร้างประโยคคำถามท่านไม่สามารถสร้างโดยแค่ย้าย v. to do ไปไว้หน้าประธานเท่านั้น แต่ท่านต้องนำ v. to do อีกตัวมาแทนตัวที่ถูกย้ายไปเสมอ ตัวอย่างเช่น

Does she do her homework every Saturday morning?
ดาซ ชี ดู เฮอรฺ โฮมเวิรฺค เอ็ฟวฺริ แซทเทอะเดยฺ มอรฺนิง?
(เธอทำการบ้านทุกเช้าวันเสาร์หรือ/ใช่ไหม?)

ที่เป็นอย่างนี้เพราะมันเป็นกริยาช่วยที่พิเศษคือช่วยสร้างประโยคคำถามเมื่อไม่มีกริยาช่วยตัวอื่นอยู่ในประโยค และเมื่อถึงคราวต้องช่วยตัวมันเองมันก็ต้องทำหน้าที่นี้เช่นกัน

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเมื่อนำ v. to do อีกตัวมาช่วยสร้างประโยคคำถามโดยวางไว้หน้าประธานแล้ว v. to do ตัวที่สองซึ่งตอนที่เป็นประโยคบอกเล่าคือ does กลับกลายเป็น do ไป ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะถ้าในประโยคมีกริยาสองตัวจะมีกริยาตัวเดียวเท่านั้นที่จะต้องผันให้สอดคล้องกับประธาน กริยาที่ต้องผันก็คือกริยาตัวแรกที่อยู่ติดกับประธานนั่นเอง ส่วนกริยาอีกตัวก็จะอยู่ในรูปเดิม

กรณีที่ห้า มี v.to have เป็นกริยาแท้อยู่ในประโยคบอกเล่า
ครับนี่ก็เป็นข้อยกเว้นข้อหนึ่งเหมือนกัน คือถ้ามี v. to have เป็นกริยาแท้อยู่ในประโยคบอกเล่านั้น จะไม่นิยมใช้ v. to have ช่วยสร้างประโยคคำถามใน present simple และ past simple tense (ติดตามดูรายละเอียดเรื่อง tense ในบทต่อไป)โดยย้ายมาวางไว้หน้าประธานดังกริยาช่วยตัวอื่น ถึงแม้ว่า v. to have จะเป็นได้ทั้งกริยาช่วยและกริยาแท้ก็ตาม แต่เราจะสร้างประโยคคำถามจากประโยคบอกเล่านี้ได้โดยการนำ v. to do มาช่วย ยกตัวอย่างเช่น

She has two daughters and two sons.
ชี แฮซ ทู ดอวฺเทอรฺส แอนดฺ ทู ซันสฺ
(เธอมีลูกสาวสองคนและลูกชายสองคน)

จะได้ประโยคคำถามตามตัวอย่างด้านล่าง

Does she have two daughters and two sons?
ดาซ ชี แฮฟวฺ ทู ดอวฺเทอรฺส แอนดฺ ทู ซันสฺ?
(เธอมีลูกสาวสองคนและลูกชายสองคนหรือ/ไช่ใหม?)

ถ้าสังเกตจะเห็นว่า กริยา has จากประโยคบอกเล่าจะกลายเป็น have ไปในประโยคคำถาม ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเป็นกฏเดียวกันเหมือนกับกรณีที่สี่นั่นเองครับ และให้จำไว้เลยว่าไม่ว่าประโยคลักษณะไหนถ้ามีกริยาสองตัวขึ้นไปอยู่ในประโยคโดยกริยาช่วยจะอยู่ติดกับประธานตามลำดับ ส่วนกริยาตัวสุดท้ายจะเป็นกริยาแท้เสมอ กริยาช่วยตัวที่อยู่ใกล้กับประธานที่สุดเท่านั้นที่จะต้องผันตามประธานและเวลา (tenses) เสมอส่วนกริยาแท้จะอยู่ในรูปเดิมหรืออาจจะผันไปตาม tenses เท่านั้นครับ(สำหรับบาง tenses ที่กริยาแท้ต้องผัน) โดยไม่ผันไปตามประธาน

มาถึงตรงนี้ก็พอจะเข้าใจวิธีสร้างประโยคคำถามในภาษาอังกฤษแล้วใช่ไหมครับ?

บทความถัดไป
บทความก่อนหน้า

ความคิดเห็น