การผันกริยาไปตามกาลเวลาในภาษาอังกฤษ

การผันกริยาไปตามกาลเวลาในภาษาอังกฤษคือการทำให้เกิด tenses=เท็นสฺเสิซ  (กาลเวลา) ต่างๆขึ้นมา เนื่องจากในภาษาอังกฤษจะแบ่งกริยาเป็น รูปอดีต ปัจจุบัน อนาคต นอกจากนี้ในแต่ละเหตุการณ์ดังกล่าว คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็ยังแบ่งย่อยออกไปอีกอย่างละสี่เหตุการณ์ ทำให้เกิดเหตุการณ์ย่อยๆขึ้นมาแทรกในแต่ละสามเหตุการณ์ และจึงเป็นที่มาของการเกิด 12 tenses ในภาษาอังกฤษ ดูหลักการผันกริยาไปตามกาลเวลาในภาษาอังกฤษได้ด้านล่างครับ

หลักการผันกริยาไปตามกาลเวลาในภาษาอังกฤษมีดังนี้
1 ถ้าในประโยคมีกริยามากกว่าหนึ่งตัว จะต้องมีกริยาช่วยอยู่ด้วยเสมอและหากกริยาช่วยตัวแรกที่อยู่ติดกับประธานเป็นกริยาที่ต้องผัน (มีกริยาบางตัวที่ไม่ผัน ดูรายละเอียดในข้อที่ 2 และ 3 ด้านล่าง) ก็จะผันตามประธานและกาลเสมอส่วนตัวอื่นๆจะผันไปตามกาลเท่านั้น เช่น

1.1 Yesterday, while I was working, my old friend called me.
เย็สเทอะเดยฺ, ไวลฺ ไอ ว็อซ เวิรฺคกิง, ไม โอลดฺ เฟรนดฺ คอลดฺ มี
(เมื่อวานขณะที่ผมกำลังทำงานอยู่เพื่อนเก่าก็โทรมาหา)

1.2 She has been watching T.V. for 3 hours.
ชี แฮซ บีน ว็อทชิง ที วี ฟอรฺ ธรี อาวเออรฺส
(เธอดูทีวีมา 3 ชั่วโมงแล้ว)

ประโยคที่ 1.1 ในประโยคแรกมีกริยาสองตัวเรียกว่ากริยาผสม ระหว่างกริยาช่วย was กับกริยาแท้ working ซึ่งอยู่ในรูป ing form กริยาช่วย was อยู่ใกล้ประธานที่สุดจึงผันตามประธานและเวลา ส่วนกริยาแท้ working ที่อยู่ในรูป ing form ผันตามกาลเวลาทำให้ประโยคนี้กลายเป็น past continuous tense ไปโดยปริยาย

ประโยคที่1.2 มีกริยาสามตัวอยู่ในประโยคเรียกว่าเป็นกริยาผสม ระหว่าง กริยาช่วย has, been กับกริยาแท้ watching ที่อยู่ในรูป ing form หรือ present participle กริยาช่วย has อยู่ใกล้ประธานที่สุดจึงผันตามประธาน ส่วนกริยาช่วย been กับกริยาแท้ watching จะผันตามกาล กริยาทั้งสามตัวต่างร่วมมือกันสร้าง tense นี้ขึ้นมาเรียกว่า present perfect continuous tense

2 กริยาส่วนใหญ่จะผันไปตามประธานและกาลเวลาได้แต่กริยาบางตัวจะผันไปตามกาลเวลาอย่างเดียวและใช้เฉพาะในบางเวลาเท่านั้น กริยาประเภทนี้เป็นกริยาช่วยบางตัว ได้แก่ can=แคน (สามารถ), will=วิลวฺ (จะ), shall=แชล (จะ) ตัวอย่าง เช่น

2.1 She can speak five languages.
ชี แคน สปีค ไฟวฺ แลงเกว็จเจิส
(เธอพูดได้ห้าภาษา)

2.2 I will be at home all day this Sunday.
ไอ วิลวฺ บี แอ็ท โฮม ออล เดยฺ ดิส ซันเดยฺ
(วันอาทิตย์นี้ผมจะอยู่บ้านทั้งวัน)

ประโยค 2.1 มี can เป็นกริยาช่วยที่ผันไปตามกาลเวลาอย่างเดียว กล่าวคือเราใช้ can กับประธานทุกชนิดในเหตุการณ์ปัจจุบันส่วนเหตุการณ์ในอดีตใช้ could กับประธานทุกชนิดจึงกล่าวได้ว่า can เป็นกริยาชนิดหนึ่งที่ผันไปตามกาลเวลาเท่านั้น

ประโยคที่ 2.2 มี will เป็นกริยาช่วยและเป็นกริยาที่ผันไปตามกาลเวลาเท่านั้นเช่นกันเพราะเราใช้ will กับประธานทุกชนิดกับเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต และใช้ would กับประธานทุกชนิดกับการพูดว่าจะทำบางอย่างในอดีต หรือเหตุการณ์บางอย่างจะเกิดในอดีต

3 กริยาบางตัวมีรูปเดียวและใช้กับบางเวลาเท่านั้น ได้แก่กริยาช่วย must=มัสทฺ (ต้อง), should=ชุด (ควรจะ), ought to=อ็อท ทู (ควรจะ), may=เมยฺ (อาจจะ), might=ไมทฺ (อาจจะ), used to=ยูสดฺ ทู (เคยทำ/เคยเป็น/เคยมีในอดีตแต่ปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ตัวอย่างการใช้ เช่น

3.1 He also must work on Saturday.
ฮี ออลโซ มัสทฺ เวิรฺค ออน แซทเทอะเดยฺ
(เขายังต้องทำงานในวันเสาร์ด้วย)

3.2 You should stop smoking.
ยู ชุด สต็อบ สโมคกิง
(คุณควรจะหยุดสูบบุหรี่)

3.3 It may rain in the afternoon.
อิท เมยฺ เรน อิน ดิ อาฟเทอะนูน
(ฝันอาจจะตกตอนบ่าย)

3.4 I used to see him a lot.
ไอ ยูสดฺ ทู ซี ฮิม อะ ล็อท
(ผมเคยพบเขาบ่อยๆ)

 ข้อควรจำ
กริยาในข้อ 2 จะผันไปตามกาลเวลาเท่านั้นโดยไม่ผันไปตามประธาน กล่าวคือไม่ว่าประธานจะเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์กริยาดังกล่าวก็อยู่รูปโดยขึ้นอยู่กับกาลเวลา

กริยาช่วยในข้อ 3 เป็นกริยาที่มีรูปเดียว กล่าวคือกริยาดังกล่าวไม่ผันไปตามประธานและเวลา นอกจากนี้กริยาเหล่านี้ใช้ในบางเวลาเท่านั้น


บทความถัดไป


ความคิดเห็น